การพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีสำหรับสิ่งทอทั่วไปให้เกิดขึ้นในประเทศ จึงมีความจำเป็นเพื่อใช้เป็น ฐานรองรับอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กับต่างประเทศ โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ มากกว่าการผลิตโดยเน้นต้นทุนต่ำ ในขณะเดียวกันการเริ่มต้นพัฒนา ในส่วนของสิ่งทอเฉพาะทาง ก็มีความจำเป็น เพราะแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งทอ ในปัจจุบัน มีทิศทางไปสู่สิ่งทอกลุ่มใหม่นี้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากความหลากหลาย ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ที่เปิดโอกาสและความเป็นไปได้ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสู่ตลาด และส่วนแบ่งทางตลาด ที่กำลังขยายและคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเฉพาะทางเช่น เข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย เสื้อเกราะกันกระสุน เส้นเลือดเทียมและชุดผ่าตัดแพทย์ที่เป็นนอนวูฟเวน เหล่านี้ ส่วนมากผลิตจากประเทศ ที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบ ยุโรปตะวันตก ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยที่ก้าวหน้า สามารถผลิตเส้นใยที่ซับซ้อนและมีคุณภาพสูง ตามต้องการ รวมไปถึงการออกแบบ และเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติ เหมาะสม ต่อการนำไปใช้งาน ในส่วนของประเทศไทย สถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งทอเฉพาะทางนี้ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนาไปจนถึงระดับที่สร้างผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจาก การที่เรายังขาดเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการผลิต คือ การผลิตเส้นใยประสิทธิภาพสูงและการออกแบบผลิตภัณฑ์ อีกทั้งโรงงานสิ่งทอในประเทศเกือบทั้งหมด เป็นแบบ สิ่งทอทั่วไป และมีการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มากกว่าการพัฒนาขึ้นมาเอง ทำให้การปรับเปลี่ยน แนวทางการผลิตเข้าสู่สิ่งทอเฉพาะทางนั้นเป็นไปค่อนข้างช้า
ดังนั้นในส่วนเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งทอ ในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง มีการวางแนวทางงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิต ทั้งในส่วนของสิ่งทอทั่วไป และสิ่งทอเฉพาะทาง ในส่วนของสิ่งทอทั่วไป เทคโนโลยีการผลิตเส้นใย และการปรับปรุงคุณภาพของเส้นใยนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ผลิตเส้นใย เป็นบริษัทลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เทคโนโลยีที่ใช้มาจากการถ่ายทอด โดยตรงจาก บริษัทแม่และ เป็นความลับ การสร้างองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยในประเทศ จึงเป็นการ เตรียมพร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อีกทั้งเป็นพื้นฐานในการส่งเสริม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สิ่งทอที่ผลิตในประเทศ ให้มีคุณภาพเพื่อที่จะสามารถแข่งขัน ในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ในส่วนของ สิ่งทอเฉพาะทาง งานวิจัยและพัฒนาสามารถเริ่มต้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีเส้นใย ของสิ่งทอทั่วไป แล้วจึงขยายไปสู่ เทคโนโลยีการผลิตเส้นใยประสิทธิภาพสูง รวมไปถึงการเรียนรู้ และพัฒนาการออกแบบผลิตสิ่งทอเฉพาะทาง รูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม